วิสัยทัศน์และพันธกิจ

วิสัยทัศน์และพันธกิจ


วิสัยทัศน์

กอ.รมน.ภาค ๔ สน. : วางแผน อำนวยการ และกำกับดูแลการปฏิบัติของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และรักษาความสงบคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อนำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

เจตนารมณ์ของ ผอ.รมน.ภาค ๔

น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ” และใช้แนวทาง “ สันติวิธีภายใต้กฎหมายเดียวกัน” รวมทั้ง ดำเนินการตามแนวทางหลัก ๓ ประการ คือ การควบคุมพื้นที่ การใกล้ชิดประชาชน และการจำกัดเสรี การปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยใช้การเมืองนำการทหารรุกเข้าสู่หมู่บ้าน ควบคู่กับการพัฒนา การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคม และการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการปฏิบัติงานร่วมกันทั้ง ๓ ฝ่าย ( พลเรือน ตำรวจ ทหาร ) อย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ โดยประชาชนมีส่วนร่วม ผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ คือ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้ความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม

 

พันธกิจ


แนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ กอ.รมน.ภาค ๔ สน.

ดำเนินงานโดยใช้ยุทธศาสตร์หลัก ๒ ยุทธศาสตร์ คือ

ก) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา : มอบให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยบูรณาการปฏิบัติงาน และควบคุมการปฏิบัติ มีเป้าหมายต่อประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นจุดศูนย์ดุล ทางยุทธศาสตร์ โดยยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน “ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ” และปรัชญา “ เศรษฐกิจพอเพียง ” เป็นแนวทางในการดำเนินการด้วยการบูรณาการแผนงาน/โครงการตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ สอดคล้องและเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทุกกลยุทธ์

ข) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง : มอบให้ พตท.เป็นหน่วยบูรณาการปฏิบัติงาน และควบคุมการปฏิบัติ ยึดถือแผนการอำนวยความเป็นธรรมและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแนวทาง การดำเนินงาน มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถดำรงชีวิต และประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุข ได้รับสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม มีความเชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจในอำนาจรัฐ โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ ๓ กลยุทธ์ ดังนี้

(๑) กลยุทธ์การพัฒนางานยุติธรรมและประสิทธิภาพการเยียวยา โดย การพัฒนากฎหมายและบูรณาการระบบงานยุติธรรมให้เข้ากับอัตลักษณ์และความสอดคล้องของวิถีชีวิตมุสลิมและศาสนาอิสลาม การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนให้มีความเข้าใจในกฎหมายไทย การเสริมสร้างความยุติธรรมชุมชนและยุติธรรมทางเลือกที่อาศัยพลังชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน การพัฒนาเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินคดีโดยอาศัยวิทยาการสอบสวนที่ทันสมัยตามหลักวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ผู้กระทำผิดที่เป็นมาตรฐาน การช่วยเหลือพัฒนาอาชีพและฟื้นฟูจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง โดยให้ผู้ได้รับความสูญเสียทุกภาคส่วนเข้าถึงระบบการฟื้นฟูได้ง่าย โดยไม่เลือกปฏิบัติเพื่อลบปมเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ลดน้อยลง ด้วยการพัฒนางานยุติธรรมตามหลักนิติธรรม โดยมีเป้าหมายการดำเนินการ คือ การร้องเรียนการละเมิดสิทธิของประชาชนและเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง, ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และการดำเนินการของภาครัฐ และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องได้รับการเยียวยา ช่วยเหลือพัฒนาอาชีพ และฟื้นฟูจิตใจ ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ดีและไว้วางใจในรัฐ

(๒) กลยุทธ์การเสริมสร้างความเข้าใจ และการขจัดความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธี โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ให้ประชาชนมีความเข้าใจการดำเนินงานของภาครัฐ ยอมรับ และให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพิ่มขึ้น มีเป้าหมายการดำเนินการ คือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าถึงประชาชน ในพื้นที่มากขึ้น และประชาชนเข้าร่วมในกิจกรรมของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประชาชนมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตนเองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

(๓) กลยุทธ์การรักษาความสงบ คุ้มครองความปลอดภัย และแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยควบคุมและสกัดกั้นความเคลื่อนไหวการก่อเหตุรุนแรง เพิ่มการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานภาครัฐในพื้นที่ป้องกันและเฝ้าระวังการก่อเหตุด้วยความร่วมมือและป้องกันตนเองของชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพการข่าว และดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีเป้าหมายการดำเนินการ คือ ประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแลความปลอดภัยและความคุ้มครองจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด, ชุมชนและหมู่บ้านมีระบบป้องกัน และแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยและปัญหายาเสพติดร่วมกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลสถานการณ์มีความถูกต้อง รวดเร็ว ทันเวลา ทำให้ภาครัฐสามารถป้องกัน และลดความสูญเสียจากเหตุรุนแรงในพื้นที่

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) : บูรณาการแผนงาน/โครงการของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยการ และประสานการปฏิบัติในการบริหารงานยุติธรรม คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การอำนวยความเป็นธรรมโดยการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การเยียวยาและการพัฒนากระบวนการยุติธรรม เพื่อขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม รวมทั้งการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, สงขลา, (กอ.รมน.จว.) : วางแผน อำนวยการ ประสานงาน ในการแก้ปัญหาและจัดระเบียบความมั่นคงในพื้นที่ รวมทั้งปฏิบัติตามพันธกิจที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้แก่ การบริหารจัดการ และการประเมินผล, การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายใน, การจัดระเบียบชุมชนและการสร้างพลังประชาชน และการเตรียมความพร้อมสำหรับเผชิญสถานการณ์เร่งด่วน

ศูนย์บูรณาการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศพชต. ) : อำนวยการ บูรณาการ และประสานการปฏิบัติงาน ตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นไปตามที่ได้รับมอบนโยบาย ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์สันติสุข เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ ตามกรอบการดำเนินงานตามมาตรา ๒๑ ตลอดจนการบูรณาการ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านคดี สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มาเข้าร่วมโครงการ และให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศปส.จชต. ): อำนวยการ ประสานงาน การแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและที่ได้รับมอบหมายจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า

สำนักงานพัฒนาภาค ๔ ส่วนหน้า ( สนภ.๔ สน. ) วางแผน อำนวยการ ประสานงาน ควบคุม และกำกับดูแล ตลอดจนร่วมมือกับส่วนราชการ และองค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้การสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ( ศปก.ตร.สน. ) : อำนวยการ ประสานงาน ควบคุมและบังคับบัญชาการปฏิบัติของตำรวจทุกหน่วยงานในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์การกระทำผิด เพื่ออำนวยความยุติธรรมในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความมั่นคงภายใน

ศูนย์ข่าวกรองประจำพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศขก.จชต. ): เป็นศูนย์กลางในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน ควบคุมและกำกับดูแล หน่วยงานข่าวทั้งปวงในพื้นที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อบูรณาการงานข่าวให้เป็นเอกภาพและไปในทิศทางเดียวกัน

 18,187 total views,  9 views today

Open Chat
1
Close chat
Hello! Thanks for visiting us. Please press Start button to chat with our support :)

Start